ประวัติความเป็นมาของหน่วย


กองทัพภาคที่ ๓ ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านคลอง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ๖๕๐๐๐
ประวัติความเป็นมาของหน่วย
              นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๓๗ เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระบรมราโชบายในการจัดทหารแบบใหม่ โดยให้จัดตั้งกรมบัญชาการทหารบก ประจำมณฑลในมณฑลต่างๆ โดยให้ทำไปตามสมควรแก่ความต้องการและความพร้อมด้านอื่นๆ ของประเทศ เพื่อบรรเทาความทุกยากเดือดร้อนของไพร่พลที่ต้องไปประจำรับราชการไกลถิ่น และความจำเป็นต้องมีหน่วยส่วนภูมิภาคเป็นสาขาของกระทรวงใหญ่ในนครหลวง
              - พ.ศ.๒๔๓๘ กระทรวงกลาโหม ประกาศตั้งกรมบัญชาการทหารบกประจำมณฑลพิษณุโลก ไม่ปรากฏว่ามีการจัดหน่วยทหารอย่างไร สันนิษฐานว่ามีการจัดตั้งหน่วยกรมบัญชาการทหารบกประจำมณฑลพิษณุโลกและกำลังพลของหน่วยประจำอยู่ ณ ที่ตั้งบริเวณค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  ในปัจจุบัน
              - ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมืองแพร่อยู่ในฐานะเป็นประเทศราช มีเจ้าพิริยะเทพวงษ์ เป็นเจ้าผู้ครองนคร เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๔๕ กลุ่มโจรเงี้ยวประมาณ ๔๐ คน จากบ้านบ่อแก้ว แขวงเมืองลอง นำโดย สะล่า  โปชาย และจองแช่ เป็นหัวหน้า สมทบกับเงี้ยวบ้านป่าผึ้ง แขวงสูงเม่นมีพกาหม่องเป็นหัวหน้า พร้อมอาวุธปืนยกกำลังเข้ายึดโรงพักตำรวจภูธรเมืองแพร่ โรงไปรษณีย์โทรเลข บ้านข้าหลวง, ที่ว่าการเมืองแพร่, ศาล และคุก เมื่อทำการสำเร็จ มีพวกเงี้ยวกับนักโทษที่ได้รับการปลดปล่อยออกมาเข้าสมทบอีกประมาณ ๔๐๐ คน ได้ก่อการวุ่นวายรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยแยกกันเป็นหมู่เข้าปล้นบ้านคนไทย (คนไทยพูดภาษากลาง) จับพระยาไชยบูรณ์ข้าหลวงกำกับการเมืองแพร่ และจับราษฎรตลอดจนเด็กที่เป็นคนไทยภาคกลางมาฆ่าอย่างทารุณ จากนั้นได้ยกกำลังเข้าปล้นเมืองลำปาง และส่วนหนึ่งยกมาสกัดกั้นกองทัพไทยที่บริเวณเขาพลึง ชายแดนเมืองแพร่ต่ออุตรดิตถ์
              - ๖ สิงหาคม ๒๔๔๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลโท เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นแม่ทัพใหญ่คุมกองทหารจากกรุงเทพฯ และราชบุรี จำนวน ๘ กองพัน ยกไปปราบเงี้ยวที่เมืองแพร่และลำปาง และทรงโปรดเกล้าให้ผู้ว่าราชการเมืองพิชัย, ผู้ว่าราชการเมืองสุโขทัย, ผู้ว่าราชการเมืองตาก และผู้ว่าราชการเมืองพิษณุโลก คุมไพร่พลยกไปเป็นส่วนล่วงหน้า
              - ๓๑ ก.ค.๒๔๔๕ กองกำลังหัวเมืองพิชัย ได้ปะทะกับกองกำลังเงี้ยวที่ปางค่า ทางขึ้นเขาพลึง เขตแดนเมืองอุตรดิตถ์ต่อกับเมืองแพร่ ประมาณครึ่งชั่วโมง พวกเงี้ยวถอยไปที่เขาพลึง และวันที่ ๓ ส.ค.๒๔๔๕ กองกำลังเมืองพิชัย ได้ปะทะกับกองกำลังเงี้ยวครั้งที่ ๒ ที่บริเวณเขาพลึงประมาณ๒ ชั่วโมง กองโจรเงี้ยวจึงหนีแตกไป ทิ้งอาวุธ สัมภาระ และศพกองโจรอีก ๒๓ ศพ กองโจรเงี้ยวแตกหนีไปทางเมืองสอง สะเอียน เชียงคำ เชียงของ พ้นเขตเมืองแพร่ออกไปทางทิศเหนือ ซึ่งด่านสกัดจับของเมืองน่าน จับพวกเงี้ยวได้เป็นชาย ๑๙๕ คน หญิง ๕๘ คน ช้าง ๑๘ เชือก ม้า ๒๓ ตัว วัว ๑๘ ตัวอาวุธปืน ๑๕ กระบอก
              - ๒๐ สิงหาคม ๒๔๔๕ กองทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี เดินทางไปถึงเมืองแพร่ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ต่อมาได้จัดการสอบสวนจับกุมผู้กระทำผิด หรือสมคบกระทำผิดเพื่อส่งฟ้องศาล และส่งให้กองกำลังเมืองต่างๆ ที่ไม่มีความจำเป็นกลับภูมิลำเนาเดิม
              - ๒๕ กันยายน ๒๔๔๕ เจ้าพิริยะเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครหลบหนีออกจากเมืองแพร่ไปอยู่หลวงพระบาง ต่อมาได้ย้ายไปเมืองยู้ ในเขตปกครองของฝรั่งเศส เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี จึงได้ประกาศถอดออกจากหน้าที่ราชการ และถอดถอนออกจากเจ้าครองนครแพร่ เป็นน้อยเทพวงษ์ ตั้งแต่วันที่ ๓๐  กันยายน ๒๔๔๕  เป็นต้นไป  และแต่งตั้งให้พระยาสุริยราชวรานุวัตร เป็นผู้รั้งราชการเมืองแพร่แทน
              - ๑๓ เมษายน ๒๔๔๖ กรมหมื่น นครไชยศรีสุรเดช ได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานและของบประมาณจัดตั้ง “กรมบัญชาการทหารบกมณฑลพิษณุโลก” เพื่อให้มีกำลังไว้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆในภาคเหนือ และเพื่อนำกำลังส่วนหนึ่งไปผลัดเปลี่ยนทหารเกณฑ์ที่ประจำอยู่ที่เมืองเชียงคำ มีการจัดหน่วยประกอบด้วย   กองบังคับการ, กองทหารประจำเมืองพิษณุโลก ๒ กองร้อย, กองทหารประจำเมืองพิจิตร ๒ กองร้อย และกองทหารประจำเมืองอุตรดิตถ์ ๑ กองร้อย
              - ๒๙ สิงหาคม ๒๔๔๘ กรมบัญชาการทหารบกพิษณุโลก ได้ประกาศใช้ข้อบังคับบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร รศ.๑๒๔ และเปลี่ยนนามหน่วยเป็น “กรมทหารบกมณฑลพิษณุโลก” มีการจัดหน่วยประกอบด้วย กองบังคับการ, กองพันพิเศษ, กรมทหารราบที่ ๑๑ (พิษณุโลก) ๒ กองร้อย, กรมทหารราบที่ ๑๗ (พิจิตร) ๒ กองร้อย, กรมทหารราบที่ ๑๘ (อุตรดิตถ์) ๒ กองร้อย
              - พ.ศ.๒๔๔๙ แปรสภาพหน่วยเป็น “กองพลที่ ๗”  เป็นหน่วยขึ้นตรงกับกระทรวงกลาโหมมีการจัดหน่วยประกอบด้วย กรมทหารราบที่ ๗ (พิษณุโลก), กรมทหารราบที่ ๑๗ (พิจิตร), กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๗ (พิษณุโลก) และกรมทหารพรานที่ ๗ (น่าน)
              - พ.ศ.๒๔๕๔ แปรสภาพหน่วยเป็น “กองทัพที่ ๒” ตั้งกรมบัญชาการที่เมืองพิษณุโลก ประกอบด้วย กองพลที่ ๖ มณฑลนครสวรรค์, กองพลที่ ๗ มณฑลพิษณุโลก และกองพลที่ ๘ มณฑลพายัพ ตามคำสั่งทหารบกที่ ๓๗/๓๔๑๗ ลงวันที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ.๑๒๙ (๑๓ ม.ค.๕๔) เรื่องจัดกองพลเป็นกองทัพและย้ายนายทหารรับราชการ
              - พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนการเรียกนามหน่วยจาก “กองพล” เป็น “กองพลทหารบก” คำสั่งทหารบกที่ ๒๗๒/๒๕๘๐๐ ลง ๑๑ มี.ค.๒๔๕๗ และให้ผู้บัญชาการกองพลทหารบกที่ ๖ ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกพิษณุโลกด้วย คำสั่งทหารบกที่ ๒๗๓/๒๕๘๐๑ ลง ๑๑ มี.ค.๒๔๕๗
              - พ.ศ.๒๔๖๐ เปลี่ยนนามหน่วยเป็น “กองทัพน้อยทหารบกที่ ๗”
              - พ.ศ.๒๔๖๔ แปรสภาพหน่วยเป็น “กองทัพที่ ๓” (พิษณุโลก) ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม มีการจัดหน่วยประกอบด้วย กองพลที่ ๖ (นครสวรรค์) กองพลที่ ๗ (พิษณุโลก) และกองพลที่ ๘ (เชียงใหม่)
              - พ.ศ.๒๔๗๒ เนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจของโลกเป็นไปอย่างรุนแรง จึงมีการจัดส่วนราชการใหม่ และยุบหน่วยเป็นจำนวนมาก กองทัพบกได้เปลี่ยนนามหน่วยจาก “กองทัพที่ ๓” เป็น“กองทัพที่ ๒” ย้ายที่ตั้งหน่วยไปเข้าที่ตั้งใหม่ที่เมืองอยุธยา และยุบหน่วยทหารในภาคเหนือ คงเหลือ“กองพลที่ ๖” (นครสวรรค์) มีหน่วยขึ้นตรงได้แก่ กรมทหารราบที่ ๗ (นครสวรรค์), กรมทหารราบที่ ๘  (ลำปาง) กรมทหารราบที่ ๑๗, และกรมทหารราบที่ ๑๘, กรมทหารปืนใหญ่ที่ ๔ (นครสวรรค์) ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก คงเหลือหน่วย ร.๗ พัน.๓ เป็นกำลังรบ
              - พ.ศ.๒๔๗๖ ได้เปลี่ยนแปลงสายการบังคับบัญชาใหม่ ให้หน่วยกำลังรบขึ้นกับ จทบ. ในพื้นที่ ร.พัน.๑๒ (แปรสภาพหน่วยจาก ร.๗ พัน.๓) ขึ้นกับ จทบ.พ.ล.
              - พ.ศ.๒๔๗๘ ได้ตั้ง มทบ.๔ ขึ้นที่ จว.น.ว. (เป็นหน่วยขึ้นตรงกับ ทบ.) มี นขต.คือ จทบ.ช.ม.,จทบ.ล.ป., จทบ.อ.ต. และ จทบ.พ.ล.
              - พ.ศ.๒๔๘๒ การจัดหน่วยทหารบกในภาคเหนือยังคงเป็นไปตามเดิม จทบ.ต่างๆ ขึ้นกับ มทบ.๔ ที่ จว.น.ว. มีหน่วยกำลังรบขึ้นกับ จทบ.ต่างๆ ได้แก่ จทบ.ช.ม. มี  ร.พัน.๓๑, จทบ.ล.ป. มี ร.พัน.๓๐, จทบ.พ.ล. มี ร.พัน.๒๙ (แปรสภาพหน่วยจาก ร.พัน.๑๒), จทบ.น.ว. มี ร.พัน.๒๘ และ ป.พัน.๑๐
              - พ.ศ.๒๔๘๓ เกิดกรณีพิพาทอินโดจีน มทบ.๔ ได้รับมอบภารให้จัดหน่วยออกปฏิบัติราชการสนามด้านชายแดน ไทย-อินโดจีนฝรั่งเศสด้านตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง  มทบ.๔ ได้จัดหน่วยกองพลพายัพไปปฏิบัติราชการสนาม ได้แก่ ร.พัน.๓๐, ร.พัน.๓๑, ร.พัน.๒๘ (-), ร.พัน.๒๙ (-) และ ป.พัน.๑๐ ปรากฏว่าการปฏิบัติได้ผลดีอย่างยิ่งสามารถยึดพื้นที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงด้านเมืองหลวงพระบางไว้ได้ทั้งหมด ส่วน ร.พัน.๒๙ ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกองพลสุรินทร์ สามารถยึดภูมิประเทศในแคว้นกัมพูชาได้สำเร็จ และเดินทางกลับที่ตั้งปกติ เมื่อ ๑๔ เม.ย.๘๔ สำหรับ ร.พัน.๒๘ ได้ปฏิบัติภารกิจร่วมกับกองพลอุบลปฏิบัติภารกิจได้สำเร็จเช่นเดียวกัน
              - วันที่  ๒  ธันวาคม  ๒๔๘๔  มทบ.๔ ได้รับคำสั่งให้จัดกำลังจากหน่วยต่างๆ ในรูปของกองพล   “กองพลที่ ๔”   โดยมี   พ.อ.หลวงหาญสงคราม   (ฟ้อน   สุวรรณไศละ)   ผบ.มทบ.๔   เป็น ผบ.พล.๔ เป็นกองพลในกองทัพพายัพ ซึ่งมี พล.ท.หลวงเสรีเริงฤทธิ์  เป็นแม่ทัพพายัพ การจัดกองพลที่ ๔ ประกอบด้วย ร.๓ (ร.๓ พัน.๖, ร.๓ พัน.๘ และ ร.๓ พัน.๔) มี พ.อ.หลวงเกรียงเดชพิชัย (สุทธิ์ ศุขะนิล) เป็น ผบ.กรม, ร.๑๓ (ร.๑๓ พัน.๓๐, ร.๑๓ พัน.๓๑ และ ร.๑๓ พัน.๓๔) มี พ.ท.ขุนวัฒนโยธิน (สอด  รัตนยันตรการ) เป็น ผบ.กรม การปฏิบัติของกองทัพพายัพในพื้นที่สหรัฐไทยเดิม  ได้รับความชื่นชมต่อผลสำเร็จจาก จอมพล ป.  พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด พร้อมกับประกาศกำหนดให้วันที่ ๗- ๑๔ มกราคม ๒๔๘๖ เป็น “สัปดาห์แห่งความโชคชัย”
              - พ.ศ.๒๔๘๕ – ๒๔๘๗ กองพลที่ ๔ ปฏิบัติการรบในสหรัฐไทยเดิมตลอดเวลา ๓ ปี ได้เปลี่ยน ผบ.พล.๔ เป็น พล.ต.หลวงเกรียงเดชพิชัย และ พล.ต.สุทธิสารรณกร ตามลำดับ
              - พ.ศ.๒๔๘๘ เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพายุติลง พล.ต.หลวงสุทธิสารรณกร ได้นำกองพลกลับที่ตั้ง จว.น.ว., ร.พัน.๒๙ เข้าที่ตั้งเดิม จว.พ.ล., ร.พัน.๓๐ เข้าที่ตั้งเดิม จว.ล.ป., ร.พัน.๓๑ กลับที่ตั้งเดิม จว.ช.ม., ร.พัน.๒๘, และ ป.พัน.๑๐ เข้าที่ตั้งเดิม จว.น.ว., ป.พัน.๑๑ เข้าที่ตั้งใหม่ จว.ช.ม. และมีกองทหารสื่อสาร, ช.พัน.๔, กองพาหนะ, กองทหารสัตว์ต่างเข้าที่ตั้ง จว.น.ว. มีการรวมตำแหน่ง ผบ.พล.๔ และ ผบ.มทบ.๔ เข้าด้วยกัน หน่วยทหารทั้งหมดขึ้นอยู่กับ พล.๔ และ มทบ.๔
              - พ.ศ.๒๔๙๐-๒๔๙๑ มีการจัดตั้ง ร.๔ ตั้งอยู่ที่ จว.พ.ล. มี นขต.คือ ร.๔ พัน.๑ (ร.พัน.๒๘เดิม จว.น.ว.), ร.๔ พัน.๓ (ร.พัน.๒๙ เดิม จว.พ.ล.), ร.๑๗ ตั้งอยู่ที่ จว.ล.ป.ให้ย้าย ป.๔ พัน.๑ (จว.น.ว.)และ ป.๔ พัน.๒ (จว.ล.ป.) เข้าที่ตั้ง จว.ช.ม. และกองพลที่ ๔ ขึ้นการบังคับบัญชากับกองทัพที่ ๑ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ “ตามพระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการกองทัพบก ในกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๔๙๑” ราชกิจจานุเบกษา ๖๕ (๑๔ ก.ย.๙๑)
              - พ.ศ.๒๔๙๓ ทบ.ได้จัดตั้ง กองทัพที่ ๓ (ท.๓) ขึ้นที่ จว.พ.ล.และตั้ง พล.๗ และ มทบ.๗ ขึ้นที่ จว.ล.ป.โดยให้ พล.๔ และ มทบ.๔, พล.๗ และ มทบ.๗ ขึ้นตรงต่อ ท.๓ ซึ่ง พล.๔ และ มทบ.๔ มี นขต.คือ ร.๔ พัน.๑ (จว.น.ว.), ร.๔ พัน.๒ (จว.อ.ย.-น.ว.), ร.๔ พัน.๓ (จว.พ.ล.) , พล.๗ และ มทบ.๗ มี ร.๗ พัน.๑ (จว.ช.ม.), ร.๗ พัน.๒ (จว.ล.ป.), ร.๗ 
พัน.๓ (จว.อ.บ.-ล.ป.-ช.ร.) และ ป.พัน.๗ (จว.ช.ม.) ส่วนกองพาหนะ, กองสื่อสาร, กองพันทหารช่าง, และกองสัตว์รักษ์ขึ้นตรงต่อ ทภ.๓ และในส่วนภูมิภาคได้ตั้งภาคทหารบกที่ ๓ ขึ้นเพื่อควบคุม มทบ.และ จทบ.
              - พ.ศ.๒๔๙๔ มีการเปลี่ยนแปลงการจัดหน่วยในพื้นที่ ทภ.๓ กล่าวคือ ให้หน่วยที่ขึ้นตรงต่อ พล.๔ และ มทบ.๔ บางหน่วยขึ้นตรงต่อ ท.๓ เช่น ช.ท.๓ (ช.พัน.๔ เดิม), ส.ท.๓ (ส.พล.๔ เดิม),กอง พ.ท.๓ (กอง พ.พล.๔ เดิม) และจัดตั้งกอง สพบ.ท.๓ ขึ้นที่ บางปราบ อ.พยุหคีรี จว.น.ว.นอกจากนี้ได้จัดกำลังเป็น “กองผสม” ประกอบด้วย ร.๔ พัน.๑, ป.พัน.๔ และ ช.พัน.๔
              - พ.ศ.๒๔๙๘ กองทัพบกได้แก้ไขอัตรากองทัพบก ๙๑ เป็น อัตรากองทัพบก ๙๘ ได้มีการจัดหน่วยกำลังรบในรูปของ กรมผสม โดยให้ ร.๔ เป็นกรมผสมที่ ๔ ขึ้นกับ พล.๔ และ มทบ.๔, ร.๗ เป็นกรมผสมที่ ๗ ขึ้นกับ พล.๗ และ มทบ.๗ กำลังที่เหลือจากการจัดการผสมให้ขึ้นตรงกับ ท.๓ ทั้งสิ้น
              - พ.ศ.๒๔๙๙  ได้ย้ายที่ตั้ง พล.๔  จาก จว.น.ว.  เข้าที่ตั้งใหม่ที่ จว.พ.ล. มีหน่วยขึ้นตรง คือ ผส.๔   (จว.น.ว.), ผส.๗ (จว.ล.ป.),   ร้อย บก.พล.๔, ม.พัน.๗,   ม.พัน.๙ (ยานเกราะ), ช.พัน.๔, สพบ.พล.๔, พัน.ขส.พล.๔ ในส่วนภูมิภาคมี ภทบ.๓ แยกจากส่วนกำลังรบ มีหน่วยขึ้นตรงคือ มทบ.๔ (จว.น.ว.) และ มทบ.๗ (จว.ล.ป.)
              - พ.ศ.๒๕๐๐ ได้จัดกองทัพเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม ตามราชกิจจานุเบกษา ๗๔ (๒๘ พ.ค.๒๕๐๐)
              - พ.ศ.๒๕๐๑ ได้แปรสภาพ ภาคทหารบกที่ ๓ เป็น กองทัพภาคที่ ๓ (ทภ.๓) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
****************************************
นำเสนอข้อมูล โดย...ร.ต.ณฐาภพ รัตนาวรัญญู
กยก.ทภ.3